top of page
รศ. อุเทน ปัญโญ และ ดร. สุดาวดี ลิ้มไพบูลย์

ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ และ การวิจัย


วิทยาศาสตร์ (Science)

วิทยาศาสตร์ แปลมาจากคำว่า ‘Science’ ซึ่งตามความหมายของภาษากรีกนั้นหมายถึง "ความรู้" แต่ในสมัยต่อมาความหมายกลายมาเป็นวิธีการในการแสวงหาความรู้ที่เชื่อถือได้ มีระบบระเบียบแบบแผนและมีจุดมุ่งหมาย กระบวนการที่สำคัญมี 5 ขั้น คือ ขั้นตั้งปัญหา ขั้นตั้งสมมติฐาน ขั้นรวบรวมข้อมูล ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล และขั้นสรุป

วิทยาศาสตร์ (Natural Science) เป็นศาสตร์ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

ข้อตกลงเบื้องต้นของวิธีการวิทยาศาสตร์

การแสวงหาความรู้ ความจริง ด้วยวิธีการแบบต่าง ๆ ย่อมมีข้อตกลงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ หากผู้ใดไม่ยอมรับในข้อตกลงของวิธีการแบบใดแล้ว ก็คงไม่สามารถใช้วิธีการนั้นในการแสวงหาความรู้ หรือไม่ยอมรับในความรู้ หรือความจริงที่ได้มาโดยการใช้วิธีแสวงหาความรู้แบบนั้น วิธีการวิทยาศาสตร์ก็มีข้อตกลงเบื้องต้นที่สำคัญ ดังนี้

1. ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ย่อมเกิดขึ้นอย่างมีระบบ มีเงื่อนไข มีกฎเกณฑ์ มีรูปแบบที่ตายตัว และมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีกภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกันนั้น ข้อตกลงดังกล่าวนี้แบ่งอธิบายได้เป็นสัจพจน์ 3 ข้อ คือ

1.1 ธรรมชาติมีโครงสร้าง คุณสมบัติ และจุดมุ่งหมาย นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติไว้เป็นหมวดใหญ่ ๆ คือ สัตว์ พืช ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งต่อมาได้จัดแยกละเอียดมากขึ้นไปอีก

1.2 ธรรมชาติ หรือ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ จะมีความคงเส้นคงวา หรือ คงสภาพลักษณะเช่นที่เป็นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ระยะเวลาในการคงสภาพอาจแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของปรากฏการณ์นั้น ๆ เช่น น้ำเข็งจะคงสภาพความเป็นน้ำแข็งภายใต้เงื่อนไขของอุณหภูมิ ความดัน และอื่น ๆ เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป น้ำแข็งก็อาจเปลี่ยนสภาพไป

1.3 ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุ และเมื่อมีสิ่งที่เป็นสาเหตุเกิดขึ้น ปรากฏการณ์นั้นย่อมเกิดขึ้นอีก เช่น ไข้จับสั่น มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เมื่อใครถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อโรคดังกล่าวกัด ก็จะเป็นไข้จับสั่น เป็นต้น

2. บุคคลสามารถเพิ่มพูนความรู้ เรียนรู้ความจริงได้ โดยใช้กระบวนการทางจิตวิทยา คือ การรับรู้ การจำ และ การใช้เหตุผล

2.1 ความเที่ยงด้านการรับรู้ บุคคลมีประสาทสัมผัสที่จะรับรู้ปรากฏการณ์ได้อย่างคงเส้นคงวา โดย การรับรู้ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

2.2 ความเที่ยงด้านการจำ บุคคลมีความสามารถในการจดจำปรากฏการณ์ที่รับรู้ได้ และสามารถระลึกถึงสิ่งที่จำเอาไว้ออกมาได้อย่างเชื่อถือได้

2.3 ความเที่ยงด้านการใช้เหตุผล บุคคลมีความเชื่อว่าการใช้เหตุผลในการหาความรู้ ความจริงนั้นน่าเชื่อถือได้ มีความถูกต้อง ดังนั้นความรู้ ความจริง หรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่ยอมรับกันในระดับสากลเป็นเพราะว่ามีเหตุผลเป็นพื้นฐานรองรับอย่างคงที่

การวิจัย (Research)

การวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริง อย่างมีระบบ มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน มีระเบียบวิธีซึ่งเป็นที่ยอมรับในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เชื่อถือได้ ผลงานที่จะถือว่าเป็นงานวิจัยควรประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1. เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในแง่สนับสนุนหรือในแง่ต่อต้าน

2. เป็นกระบวนการที่มีระบบระเบียบเป็นขั้นตอน ไม่ใช่เป็นการลองผิดลองถูกหรือเป็นการบังเอิญ

3. มีจุดมุ่งหมายแน่นอนชัดเจน ว่าต้องการอธิบาย พยากรณ์ หรือควบคุมสภาพปรากฏการณ์ใด ๆ อาจตั้งจุดหมายไว้เพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างประกอบกัน

วิทยาศาสตร์และการวิจัย

1. องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ได้มาจากกระบวนการค้นคว้าวิจัยส่วนใหญ่มักจะกำเนิดในยุโรป อียิปต์เป็นชาติแรกที่มีหลักฐานว่าได้เริ่มทำวิจัย โดยมีการวิจัยเรื่องดาราศาสตร์และเรขาคณิต ระยะต่อมากรีกได้วิจัยวิชาคณิตศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ กลศาสตร์ และชีววิทยา สมัยโรมันก็ได้มีค้นคว้าเรื่องดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้มีการเจริญก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เราได้รับความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เรามีไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น รถยนต์ เตาแก๊ส ยารักษาโรค เสื้อผ้า เครื่องบิน ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้ดีขึ้น

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วิทยาศาสตร์กายภาพ ซึ่งวิจัยกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งวิจัยกับสิ่งที่มีชีวิต

ประเทศไทยได้รับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ส่วนมากแล้วจะมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามองค์ความรู้หลายเรื่องที่ไม่สามารถจะนำมาใช้อธิบายหรือประยุกต์ได้โดยตรงกับทุกท้องถิ่น

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยประยุกต์องค์ความรู้ที่ต้องการให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพหน่วยงาน สภาพบุคลากร หรือระบบบริหาร เป็นต้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดได้ว่ากำลังมีการพัฒนาทางด้านนี้อยู่ จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยโดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการสนับสนุนบุคลากรให้ได้รับการศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศมากขึ้น มีการพัฒนาสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยขึ้นมาหลายแห่งรวมทั้งสถาบันบัณฑิตศึกษา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่โดยใช้การวิจัยเป็นหลักมากขึ้น มีการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนการวิจัยที่นอกเหนือไปจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

2. องค์ความรู้ทางการวิจัย เป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาความรู้ และข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างมีระบบระเบียบ ซึ่งในปัจจุบันวิธีที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันมากที่สุด คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จึงมีผู้ให้คำนิยามของ "การวิจัย" ว่าเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันได้มีการบัญญัติศัพท์สำหรับองค์ความรู้ทางการวิจัยว่า “วิธีวิทยาการวิจัย” (Research Methodology) ซึ่งหมายถึงวิธีการต่าง ๆ ที่นักวิจัยนำมาใช้ในกระบวนการหาความรู้ วิธีวิทยาการวิจัยนี้หมายรวมตั้งแต่การตั้งคำถามการวิจัย การสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผล และการสรุปผล นักวิชาการได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่จะใช้ในการวิจัย เพื่อให้ได้กระบวนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ได้คำตอบการวิจัยที่ตรงและครอบคลุมวัตถุประสงค์ จึงได้มีการให้การศึกษาถึงระดับปริญญาเอกท้างด้านวิทยาการวิจัยและที่เกี่ยวข้อง

หนังสืออ้างอิง

  • ชัยพร วิชชาวุธ "บทนำสู่การวิจัยการศึกษา" การวิจัยทางการศึกษา : หลักและวิธีการสำหรับนักวิจัย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2535.

  • พจน์ สะเพียรชัย "ปรัชญาและวิธีการทางวิทยาศาสตร์" เอกสารเพื่อการอบรมวิจัยการ ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2517.

  • ยงยุทธ ยุทธวงศ์ "การสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนา ประเทศไทย" บทบาทของการวิจัย : การท้าทายของทศวรรษใหม่ สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2537.

  • วิเชียร เกตุสิงห์ และ คณะ สถานภาพของการวิจัยสาขาการศึกษาในประเทศไทย กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2537.

  • Ary, D. Jacob, L.C. and RaZavieh, A. Introduction to Research in Education.

  • New York : Holt, Rinehart and Winston, 1979.

  • Borg, W.R. and Gall, M.D. Educational Research : An Introduction. New York : Longman, 1989.

  • Lehmann, I.J. and Mehrens, W.A. Educational Research : Reading in Focus. New York: Holt, Rinehart and Winston, Inc., 1971.

  • Tuckman, B.W. Conducting Educational Research. New York : Harcourt Brace. Jovanovich, Inc., 1972.

  • Van Dalen, D.B. Understanding Educational Research: An Introduction. New York : McGraw-Hill Book Company, 1979.

FOLLOW ME

  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon
  • Black Pinterest Icon
  • Black YouTube Icon

STAY UPDATED

POPULAR POSTS

TAGS

bottom of page