top of page
รศ. อุเทน ปัญโญ และ ดร. สุดาวดี ลิ้มไพบูลย์

วิธีแสวงหาความรู้


นับแต่โบราณกาลมาการเสาะแสวงหาความรู้ของมนุษย์มีอยู่อย่างมากมายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งในส่วนตัวของผู้แสวงหาความรู้ สภาวะแวดล้อมรอบด้าน และประเภทความรู้ที่ต้องการศึกษา วิธีการศึกษาแต่ละวิธีจะมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป บางวิธีอาจใช้ได้ไม่ค่อยดีกับความรู้ในบางประเภท จึงควรใช้วิธีการให้เหมาะสมในการแสวงหาความรู้นั้น ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ความจริงที่น่าเชื่อถือ โดยวิธีการที่ยังใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันสรุปได้ดังนี้

1. ประสบการณ์

2. แหล่งความรู้

3. วิธีอนุมาน

4. วิธีอุปมาน

5. วิธีวิทยาศาสตร์

6. วิธีการวิจัย

1. ประสบการณ์

ความรู้ความจริงหลายเรื่องที่แต่ละคนยอมเชื่อ ยอมรับว่าเป็นความจริง เป็นเพราะผู้นั้นได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน ความรู้หรือความเชื่อหลายเรื่องที่ได้รับมาโดยการเรียนรู้จากสังคม เมื่อคนเราเกิดมาสังคมก็จะถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติในสังคมนั้นให้ การรับเอาความรู้ประเภทนี้จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ ค่อยเป็นค่อยไป คนรุ่นหลังจะประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างของคนรุ่นก่อน

ตัวอย่างเช่น ความรู้ ความสามารถในการพูดภาษาไทย เราจะค่อยเรียนรู้จาก พ่อแม่ พี่ ญาติ เพื่อนบ้าน ครู และบุคคลอื่น ๆ การที่ต้องยอมรับเอาความรู้ประเภทนี้ไปปฏิบัติ ก็เพราะต้องการจะอยู่ในสังคมนั้นอย่างราบรื่น เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่เขาปฏิบัติกันเช่นนั้น

ความรู้หรือความเชื่อที่เรายอมรับค่อนข้างจะแน่นอน เพราะได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน เช่น การยอมรับว่าไฟร้อน การยอมรับว่าพริกขี้หนูมีรสเผ็ด การยอมรับว่าเจ็บเมื่อโดนเข็มทิ่มแทง การปักใจเชื่อคงจะไม่ใช่เพราะว่าได้อ่านจากตำรา หรือจากการฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่น อย่างไรก็ตามการแสวงหาความรู้โดยอาศัยประสบการณ์ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและข้อจำกัดของประสาทสัมผัสของแต่ละบุคคล ตลอดจนการผันแปรของสภาพแวดล้อมทางสังคม

2. แหล่งความรู้

องค์ความรู้ หรือข้อเท็จจริง จำนวนมากมาย ได้มีการบันทึกในสื่อหรือในสมองของมนุษย์ ดังนั้นหากเรามั่นใจว่าองค์ความรู้ หรือข้อเท็จจริงที่เราต้องการศึกษามีการบันทึกไว้ ในแหล่งใดอยู่ ก็ควรศึกษาค้นคว้าจากแหล่งนั้นได้ จะเห็นว่าเรามีการสอบถามความรู้จากผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหรือได้รับ การฝึกฝนอบรมมาก่อนเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมากกว่าผู้อื่น

ฉะนั้นเมื่อเราต้องการศึกษาความรู้ หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าใหม่ ควรใช้วิธีสอบถามผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น นอกเสียจากว่าไม่แน่ใจว่าความรู้ที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้อง จึงค่อยใช้วิธีศึกษาค้นคว้าใหม่ เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้อง สมัยก่อนมีแหล่งความรู้ประเภทนี้น้อยมาก แต่ปัจจุบันมีแหล่งความรู้ประเภทนี้จำนวนมากมาย เพราะนอกจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังได้มีการบันทึกในสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น เทปบันทึกเสียง เทปบันทึกภาพและเสียง ฟิล์มภาพยนต์ สิ่งพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น

องค์ความรู้ที่ได้รับการบันทึกไว้ในแหล่งต่าง ๆ จะถูกต้องหรือเป็นที่ยอมรับของผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับแหล่งความรู้นั้นด้วย ถ้าแหล่งความรู้เป็นบุคคลก็ควรพิจารณาด้วยว่าผู้นั้นมีความรู้ในสาขาวิชาหรือในเรื่องที่ต้องการจะถามเพียงใด ทั้งนี้เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์เราจะรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในสมัยก่อนหรือในสังคมชนบทบางแห่งจะมีผู้รู้ประจำหมู่บ้าน ผู้เฒ่า หมอผี หรือแม่มด บุคคลเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้ในทุกเรื่องและทุกด้าน ปัจจุบันเราก็ยังคงมีผู้รู้เช่นกันแต่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา การเลือกว่าจะสอบถามผู้รู้ท่านใดจึงควรเลือกให้เหมาะสม

3. วิธีอนุมาน

การแสวงหาความรู้โดยวิธีนี้ ผู้แสวงหาความรู้มีความเชื่อว่าอะไรก็ตามที่เป็นความจริง จะต้องเป็นความจริงในสภาพการณ์หนึ่งที่อยู่ในขอบเขต จะต้องมีความรู้หรือความจริงส่วนหนึ่งเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว และจากความรู้ที่มีอยู่นี้ ใช้หลักเหตุผลแยกแยะออกเป็นความรู้ส่วนย่อยออกไปอีก วิชาเรขาคณิตเป็นตัวอย่างที่ดีของการหาความรู้ตามวิธีอนุมานนี้ การจะศึกษาทฤษฎีบทหลัง ๆ ได้ ก็จะต้องมีความรู้ในทฤษฎีบทแรก ๆ ก่อน

อริสโตเติลเป็น ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีหาความรู้แบบอนุมาน การแสวงหาความรู้ตามวิธีของอริสโตเติลเริ่มจากการอ้างองค์ความรู้หลักแล้วตามด้วยองค์ความรู้ย่อย และข้อสรุปจากองค์ความรู้ทั้งสอง ซึ่งข้อสรุปจะสมเหตุสมผลหรือไม่สมเหตุสมผล ย่อมขึ้นอยู่กับการยอมรับในองค์ความรู้หลักและองค์ความรู้ย่อย ตลอดจนวิธีการสรุป ว่าเกินขอบเขตการวิจัยหรือไม่

ตัวอย่าง การอ้างเหตุผลตามวิธีอนุมานของอริสโตเติล

ข้อเท็จจริงหลัก เราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

ข้อเท็จจริงย่อย ประณตเป็นคน

ข้อสรุป ประณตต้องตาย

ข้อเท็จจริงหลัก ดาวเคราะห์ทุกดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์

ข้อเท็จจริงย่อย โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง

ข้อสรุป โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

ข้อเท็จจริงหลัก สำนักงานถูกไฟไหม้ พนักงานจะได้รับอันตราย

ข้อเท็จจริงย่อย สำนักงาน BBB ถูกไฟไหม้

ข้อสรุป พนักงานในสำนักงาน BBB ได้รับอันตราย

จากตัวอย่างจะเห็นว่าข้อสรุปในบางข้ออาจไม่เป็นจริง ดังตัวอย่างสุดท้ายนี้ การที่สำนักงาน BBB ถูกไฟไหม้ พนักงานในสำนักงานแห่งนี้อาจไม่ได้รับอันตรายก็ได้ ทั้งนี้เพราะไฟอาจไหม้เพียงบางส่วนของอาคารเพียงเล็กน้อย หรืออาจไหม้ในวันหยุดทำงานก็เป็นได้

4. การอุปมาน

การแสวงหาความรู้โดยใช้วิธีอุปมานเป็นการศึกษาจากองค์ความรู้ย่อย ๆ รวมกันเข้าแล้วสรุปเป็นองค์ความรู้หลัก หรือเริ่มศึกษาความรู้ความจริงเฉพาะอย่าง แล้วนำไปสู่ความรู้ที่เป็นสากล ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นคิดวิธีการแสวงหาความรู้แบบอุปมานคือฟรานซิส เบคอน ซึ่งใช้วิธีศึกษาข้อเท็จจริงย่อยก่อน แล้วนำมาจัดกลุ่มเสียใหม่โดยคำนึงถึงความเหมือน หรือความแตกต่างของส่วนประกอบ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ แล้วสรุปเป็นข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมา การหาความรู้แบบอุปมานนี้จำแนกได้ 2 แบบ คือ

1. อุปมานแบบสมบูรณ์ เป็นวิธีการที่ผู้แสวงหาความรู้จะสังเกตข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการศึกษาจากประชากรทุกหน่วย หรือศึกษาเริ่มจากส่วนย่อยทุกส่วนที่ประกอบเป็นส่วนใหญ่ที่ต้องการศึกษา แล้วสรุปจากข้อมูลทั้งหมดเป็นความรู้โดยรวม ในแง่ทฤษฎีแล้ววิธีนี้มีความเชื่อถือได้และถูกต้องมากที่สุด แต่ในแง่การปฏิบัติเป็นการยากที่จะตรวจสอบข้อมูลได้ครบทุกหน่วยประชากร จึงเป็นวิธีที่ค่อนข้างจะมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตามการศึกษาบางเรื่องก็สามารถสังเกตประชากรได้ทุกหน่วย

2. อุปมานแบบไม่สมบูรณ์ เป็นวิธีการที่ผู้แสวงหาความรู้สังเกตข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง เพราะถือว่าการรวบรวมข้อมูลจากประชากรทุกหน่วยนั้นย่อมทำได้ยาก หรือไม่ได้เลย หรือบางครั้งก็เกินความจำเป็น การรวบรวมจากตัวอย่างถ้ามีวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีแล้ว ก็จะทำให้ผลการศึกษาเป็นที่น่าเชื่อถือ

การหาความรู้แบบอุปมานส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือศึกษาจากตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น การหาความรู้เกี่ยวกับสภาพธรรมชาติจะศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างเพียงไม่กี่หน่วยแต่ก็สามารถสรุปได้เป็นสากล ต่างกับทางด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ซึ่ง ต้องใช้ตัวอย่างจำนวนมากและต้องกระจายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากที่สุด จึงจะสรุปเป็นสากลได้เพราะเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับสมองมนุษย์แล้ว ย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

ตัวอย่าง การใช้วิธีอุปมาน

ข้อเท็จจริงย่อย 1 โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

ข้อเท็จจริงย่อย 2 ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์

ฯลฯ

ข้อเท็จจริงย่อย N ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์

เมื่อพิจารณาความเหมือนและความต่างแล้ว จะเห็นว่าดาวต่าง ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

ล้วนแต่เป็นดาวเคราะห์ทั้งนั้น

ข้อสรุป ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์

5. วิธีการวิทยาศาสตร์

เนื่องจากการแสวงหาความรู้โดยวิธีการอนุมานจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงมาก่อน และองค์ความรู้ที่ได้จากการหาความรู้โดยวิธีนี้ก็มักจะอยู่ในวงจำกัด ไม่ถือว่าก่อให้เกิดองค์ความรู้อย่างแท้จริง ส่วนการแสวงหาความรู้โดยวิธีการอุปมานก็มีข้อจำกัดในเรื่องของตัวอย่างว่าเป็นตัวแทนที่ดีเพียงใดของประชากร ชาร์ล ดาร์วิน ได้นำวิธีการอนุมานและวิธีอุปมานมาใช้ร่วมกัน โดยใช้การตรวจสอบกลับไปมาทั้งสองวิธี

เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่นอนยิ่งขึ้น มีการใช้หลักเหตุผล ทฤษฎีต่าง ๆ และประสบการณ์ ในการคิดค้นหาสมมติฐาน หรือคำตอบชั่วคราวของปัญหาที่ต้องการศึกษา และเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริง จึงทำการทดสอบคำตอบชั่วคราวนั้น โดยการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์หาข้อสรุปอีกขั้นตอนหนึ่ง

ต่อมาก็ได้มีผู้ปรับปรุงวิธีการนี้ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น นิวตัน กาลิเลโอ จนกระทั่ง จอห์น ดิวอี้ ได้เขียนบันทึกวิธีการนี้ไว้อย่างเป็นหลักฐาน เรียกวิธีการนี้ว่า "วิธีการทางวิทยาศาสตร์" ซึ่งมีกระบวนการที่สำคัญ 5 ขั้นตอนตามลำดับดังนี้

1. ขั้นปัญหา (Problem)

2. ขั้นตั้งสมมติฐาน (Hypothesis)

3. ขั้นรวบรวมข้อมูล (Gathering Data)

4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis)

5. ขั้นสรุป (Conclusion)

6. วิธีการวิจัย

การวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ที่เชื่อถือได้โดยใช้วิธีที่มีระบบ ระเบียบ มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งจะเห็นว่าวิธีการแสวงหาความรู้ที่สังคมยอมรับในปัจจุบันก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ดังนั้นขั้นตอนในการหาความรู้ตามวิธีการวิจัยจึงอิงขั้นตอนการหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์นั่นเอง คือ เริ่มต้นด้วยการนิยามปัญหาที่จะวิจัย การตั้งสมมติฐาน การรวมรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุป ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

หนังสืออ้างอิง

  • กมล สุดประเสริฐ เทคนิคการวิจัย กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช 2516.

  • บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สาม เจริญพาณิชย์ 2535.

  • พจน์ สะเพียรชัย "ปรัชญาและวิธีการทางวิทยาศาสตร์" เอกสารเพื่อการอบรมวิจัย การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2517.

  • Ary, D. Jacob, L.C. and RaZavieh, A. Introduction to Research in Education. New York : Holt, Rinehart and Winston, 1979.

  • Borg, W.R. and Gall, M.D. Educational Research : An Introduction. New York : Longman, 1989.

  • Gay, L.R. Educational Research : Competencies for Analysis and Application. New York : Macmillan Publishing Co., 1992.

  • Van Dalen, D.B. Understanding Educational Research : An Introduction. New York : McGraw-Hill Book Company, 1979.

  • Wise, J.E. and Others. Methods of Research in Education. Boston : D.C. Heath and Company, 1967.

FOLLOW ME

  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon
  • Black Pinterest Icon
  • Black YouTube Icon

STAY UPDATED

POPULAR POSTS

TAGS

bottom of page